การเติบโตของตลาดด้านการใช้ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ช่วยในการแก้ปัญหาทางวิศวกรรม(CAE)

 

ขนาดตลาดและส่วนแบ่งของงานด้าน Computer Aided Engineering (CAE)

ขนาดตลาดของ Computer Aided Engineering (CAE) ทั่วโลกมีมูลค่า 7.23 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2565 และคาดว่าจะเติบโตจาก 8.01 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2566 เป็น 17.68 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2573 โดยในช่วงดังกล่าวจะมีอัตรา CAGR 12.0%

การใช้ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์เพื่อจำลองประสิทธิภาพ ปรับปรุงการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือช่วยในการแก้ปัญหาทางวิศวกรรมสำหรับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เรียกว่า Computer Aided Engineering (CAE) ซึ่งครอบคลุมถึงการจำลอง การตรวจสอบ และการปรับปรุงเครื่องมือการผลิต ผลิตภัณฑ์ และกระบวนการต่าง ๆ ด้วย โดยองค์กรต่าง ๆ กำลังใช้แพลตฟอร์มโครงสร้างพื้นฐานแบบไฮเปอร์คอนเวอร์จ (HCI) สำหรับการสร้างไพรเวทคลาวด์ที่ให้บริการพื้นที่จัดเก็บและการคำนวณขั้นสูงที่คาดว่าจะขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดด้านนี้ และยิ่งไปกว่านั้นการใช้ซอฟต์แวร์ ประเภท Computational Fluid Dynamics (CFD) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ CAE เริ่มมีบทบาทมากขึ้น สำหรับการประเมินอุณหภูมิ, ประสิทธิภาพและการยืดอายุแบตเตอรี่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งคาดว่าจะกระตุ้นการเติบโตของตลาดให้มากขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนี้ พบว่าการใช้ CFD ช่วยให้สามารถลดค่าใช้จ่ายในการสร้างรถยนต์ไฟฟ้าได้ ทำให้เป็นโอกาสในการเติบโตของ CAE ในช่วงปี 2566-2573 จะมากขึ้นตามการเติบโตของตลาดรถไฟฟ้าไปด้วย

 

ผลกระทบ COVID-19

ความต้องการซอฟต์แวร์ CAE ลดลงในหลาย ๆ อุตสาหกรรม ถือเป็นผลกระทบต่อการเติบโตของตลาด

การระบาดของโควิด-19 ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันต้องหยุดชะงัก ทำให้ผู้คนและธุรกิจต้องทบทวนกิจกรรมและปรับเป้าหมายของตนใหม่ ซึ่งการปรับดังกล่าว หลาย ๆ ส่วนเป็นการขับเคลื่อนทางเทคโนโลยี ที่มีความก้าวหน้าชัดเจนมากขึ้นและมีการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ บริษัทต่าง ๆ ลงทุนด้านเวลาและเงินในการพัฒนา ส่งเสริม ขาย และสนับสนุนโซลูชั่นด้านวิศวกรรมโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยแบบครบวงจรและสมบูรณ์มากขึ้น

การปรับตัวดังกล่าว ทำให้หลายบริษัทมียอดขายที่คงที่ แต่อัตราการเติบโตของยอดขายก็ยังลดลงโดยเฉพาะในปี 2563 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนั้นทำให้ความต้องการซอฟต์แวร์ CAE ลดลงไปด้วย ทำให้เกิดผลกระทบต่อการเติบโตของตลาดในช่วงต้นของการระบาดใหญ่ หลายบริษัทที่ปรับตัวไม่ทันก็มีการหยุดดำเนินกิจการของโรงงาน ทำให้การซื้อซอฟต์แวร์ด้าน CAE ลดลงอย่างมาก

แต่ในช่วงถัดมาของการระบาดของโควิด-19 บริษัทส่วนใหญ่เริ่มปรับตัวได้และเพื่อให้บริษัทสามารถสู้กับความท้าทายและช่วงชิงโอกาสที่เกิดขึ้นได้ เริ่มมีการลงทุนในซอฟต์แวร์ CAE ช่วยให้วิศวกร นักออกแบบ และนักวิเคราะห์สามารถจำลองผลิตภัณฑ์และประสิทธิภาพของกระบวนการในพลศาสตร์ของไหลเชิงคำนวณ (CFD) การวิเคราะห์ความแข็งแรง (FEA) และการวิเคราะห์ Mechanism ของ Muti-Bodies ตลอดจนจัดหาเครื่องมืออื่น ๆ มาเพิ่มประสิทธิภาพการออกแบบและการประเมินชิ้นงานเพื่อลดต้นทุนลง

ซึ่งเป็นการใช้แนวคิดที่เป็นความพยายามที่จะมอบความคล่องตัวให้กับกระบวนการการออกแบบ การฝึกอบรม และการดำเนินงานเพื่อเร่งวงจรงานด้านวิศวกรรมให้เร็วขึ้น โดยบริษัทที่ลงทุนด้าน CAE ได้มองว่าสิ่งนี้เป็นการพยายามชดเชยความสูญเสียที่เกิดจากการระบาดของ COVID-19

 

เทรนด์ล่าสุดและการคาดการณ์การเติบโตของ CAE

โซลูชัน CAE ได้รับการยอมรับมากขึ้นในการออกแบบเครื่องบินทำให้เกิดความต้องการใช้งานมากขึ้น ปริมาณยอดขายที่เพิ่มขึ้นในวงการผลิตและสร้าง    เครื่องบิน โดยเฉพาะการผลิตเครื่องบินประหยัดพลังงานและการบินพาณิชย์ คาดว่าจะสร้างความต้องการและความเติบโตของโซลูชันด้าน CAE มากขึ้น

  • ตามการคาดการณ์ของสำนักงานการบินและอวกาศแห่งชาติของอเมริกา จะมีเครื่องบินพลเรือนประมาณ 34,000 ลำในโลกภายในปี 2579
  • ตามรายงานของ Deloitte ประจำปี 2563 การผลิตเครื่องบินพาณิชย์ของจีนมีจำนวนถึงประมาณ 1,900 ลำในปี 2563 ซึ่งเพิ่มขึ้น 1,450 ลำเมื่อเทียบกับปี 2562

โดยโซลูชันทาง CAE ยังถูกนำมาใช้ในการออกแบบเครื่องยนต์ของเครื่องบินที่ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรีไฟฟ้าและเครื่องบินที่ปล่อยมลพิษต่ำด้วยแผงโซลาร์เซลล์ที่ปีก เครื่องบินโดยสารที่ล้ำสมัยที่สุดและการออกแบบเครื่องบินรุ่นต่อไปที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ถูกสร้างขึ้นโดยใช้โปรแกรม CAD\CAE

 

A350 ใช้เชื้อเพลิงน้อยกว่าเครื่องบินพาณิชย์ลำอื่นถึง 25% ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยรวมของผู้โดยสาร นี่เป็นเพราะประสิทธิภาพของพัดลมที่เพิ่มขึ้นในเครื่องยนต์ของเครื่องบินและประสิทธิภาพที่ค้นพบผ่านการจำลองด้วย CAE นอกจากนี้ มลพิษทางเสียงยังลดลงเนื่องจากเสียงของเครื่องยนต์ต่ำกว่าเครื่องยนต์ของเครื่องบินทั่วไปถึง 40% คาดว่าปัจจัยความสำเร็จเหล่านี้จะช่วยเพิ่มการเติบโตของตลาดด้าน CAE มากยิ่งขึ้น

 

ปัจจัยขับเคลื่อนอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อตลาด CAE

การเพิ่มการใช้ IoT และการพิมพ์สามมิติกระตุ้นการเติบโตของตลาด

การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น เช่น Internet of Things (IoT), ปัญญาประดิษฐ์ (AI), การเรียนรู้ของเครื่อง (ML), ระบบอัตโนมัติ, คลาวด์ และอื่น ๆ ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ช่วยเพิ่มคุณภาพและความทนทานของผลิตภัณฑ์  นอกจากนี้เพื่อลดเวลาและต้นทุนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ผู้ใช้งานได้ใช้โซลูชันด้าน CAE ซึ่งคาดว่าจะขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดด้านการออกแบบ เช่น การสร้างแบบจำลองข้อมูลอาคาร (BIM) การพิมพ์สามมิติ และด้านวิศวกรรมไปพร้อมกัน คาดว่าจะมีอิทธิพลต่อแนวโน้มของตลาด CAE ด้วย

การพิมพ์สามมิติเป็นรูปแบบหนึ่งของการผลิตแบบเติมแต่งที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถพิมพ์วัตถุใด ๆ เป็นภาพสามมิติได้ทันที เทคโนโลยีนี้ช่วยลดต้นทุนการผลิตและช่วยในการพัฒนาวิธีการผลิตแบบใหม่ ๆ ยิ่งไปกว่านั้น การมีความสะดวกในการใช้งานและความสามารถในการปรับแต่งแบบไร้ขีดจำกัดเป็นปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลต่อตลาดการพิมพ์สามมิติ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลดีต่อตลาด CAE ต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้ การพิมพ์สามมิติกำลังได้รับความนิยมในอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค การบินและอวกาศและการป้องกันประเทศ ยานยนต์ และการดูแลสุขภาพ ตัวอย่างเช่น การพิมพ์สามมิติในภาคการดูแลสุขภาพส่งผลให้มีเครื่องมือผ่าตัด อุปกรณ์ทางการแพทย์ และอุปกรณ์ห้องปฏิบัติการที่แข็งแกร่งและปรับแต่งเองมากขึ้น เช่น แว่นตา อุปกรณ์นำส่งยา เครื่องช่วยฟัง โครงกระดูกภายนอก และอื่น ๆ ยิ่งไปกว่านั้น วิธีการผลิตแบบเติมเนื้อวัสดุยังช่วยปรับปรุงรากฟันเทียมเฉพาะของผู้ป่วยและรากฟันเทียมในการผ่าตัดทางทันตกรรมและกระดูก ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มความต้องการโซลูชันด้าน CAE มาช่วยมากขึ้นได้เหมือนกัน

ผู้ที่มีผลิตภัณฑ์เกี่ยวข้องในตลาด IT ได้แนะนำโซลูชันใหม่ ๆ ตัวอย่างเช่น ในเดือนพฤษภาคม 2022 Intel ได้ประกาศเปิดตัว Intel VTune Profiler เพื่อยกระดับประสิทธิภาพของระบบ ประสิทธิภาพของแอปพลิเคชัน และการกำหนดค่าระบบสำหรับคลาวด์, HPC, IoT, ที่เก็บข้อมูล, มีเดีย และอื่นๆ ช่วยผู้ใช้งานสามารถปรับแต่งประสิทธิภาพของแอปพลิเคชันที่สมบูรณ์มากขึ้น ดังนั้นการเพิ่มขึ้นของการนำ Internet of Things (IoT) มาใช้ จะช่วยเพิ่มการเติบโตของตลาดด้าน CAE ด้วยเช่นกัน

 

ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของ CAE

ต้นทุนการติดตั้งที่มีราคาสูงและการขาดความเชี่ยวชาญด้านเทคนิค เป็นอุปสรรคส่วนหนึ่งต่อการเติบโตของตลาด ถึงแม้ซอฟต์แวร์ CAE เริ่มที่จะสามารถเข้าถึงได้ง่ายบนอินเทอร์เน็ตแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ซัพพลายเออร์โซลูชันด้าน CAE ยังคิดค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงสำหรับบริการการสนับสนุน ปรับแต่ง และบำรุงรักษา ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มตามการใช้งานบนแพลตฟอร์ม ปัจจัยดังกล่าวมีส่วนในการลดการเติบโตของตลาด นอกจากนี้ การขาดความรู้ทางเทคนิคเกี่ยวกับการปรับใช้ซอฟต์แวร์ CAE คาดว่าจะมีผลกระทบการเติบโตของตลาดด้วย

นอกจากนี้ผู้ใช้งานเชื่อว่าผลลัพธ์ที่แม่นยำจะปรากฏในวงจรการออกแบบผลิตภัณฑ์ในภายหลังเท่านั้น รวมทั้งหลายบริษัทเองต่างก็ปรับปรุงเครื่องมืออื่น ๆ และมีการพัฒนากระบวนการอย่างต่อเนื่องเพื่อรับมือกับความท้าทายนี้ ทำให้เป็นปัญหาในการขับเคลื่อนการออกแบบชิ้นส่วนด้วย CAE ด้วย เช่นกัน

ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคที่เป็นไปได้อื่น ๆ ของ CAE คือ

  • การพังของฮาร์ดแวร์: การพังของคอมพิวเตอร์อาจนำไปสู่การสูญเสียงาน
  • ทักษะของพนักงาน: จำเป็นต้องมีการฝึกอบรมเพื่อใช้งานซอฟต์แวร์ CAE
  • ความปลอดภัย: การทำงานอาจติดไวรัสหรือถูกแฮ็คได้
  • การอัปเดต: ระบบอาจต้องอัปเดตเป็นประจำ
  • ต้นทุนของระบบ: ระบบใหม่อาจมีราคาแพงในการซื้อ

ปัจจัยเหล่านี้อาจขัดขวางการยอมรับและความต้องการ CAE ในระดับหนึ่ง

 

การเปรียบเทียบการใช้งาน CAE ในรูปแบบต่าง ๆ

  • ช่องทางการใช้งาน CAE แบบ Cloud เทียบกับการใช้ภายในองค์กร

Cloud Segment เริ่มนำหน้ามีการใช้มากขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ตลาดจะแบ่งออกเป็นระบบคลาวด์และใช้ภายในองค์กร กลุ่มคลาวด์ครองส่วนแบ่งตลาดและจะทำสถิติ CAGR สูงสุดในช่วงปี 2566-2573 คลาวด์ช่วยให้กระจายการใช้งานได้เร็วขึ้น ลดต้นทุน บำรุงรักษาน้อยลง และปรับขยายได้มากขึ้นกว่าเดิม

ในทางกลับกัน การใช้ภายในองค์กรมีส่วนแบ่งตลาดที่โดดเด่นในปี 2564 แต่รูปแบบนี้มักจะมีการเพิ่มค่าธรรมเนียมการใช้ซอฟต์แวร์และมีค่าธรรมเนียมการอัปเกรดเป็นรายปี

 

  • การใช้งาน CAE แบ่งตามประเภทการวิเคราะห์

การวิเคราะห์แบบ FEA ที่เป็นการวิเคราะห์ความแข็งแรงมีส่วนแบ่งที่ใหญ่ที่สุด ประเภทของการวิเคราะห์แบ่งออกเป็นการวิเคราะห์แบบ FEA พลศาสตร์ของไหลเชิงคำนวณ (CFD) การวิเคราะห์เชิงความร้อน โครงสร้างพลวัตแบบ Muti-Bodies และอื่น ๆ การวิเคราะห์แบบ FEA คาดว่าจะครองส่วนแบ่งรายได้ระหว่างปี 2566-2573 มากสุด ความสามารถต่าง ๆ เช่น ความแม่นยำที่สูงขึ้น การเข้าถึงที่ง่ายดาย และการป้องกันความเสียหายในอนาคต คาดว่าจะช่วยเพิ่มการใช้งานด้านนี้มากขึ้น นอกจากนี้ความสามารถในการคาดการณ์ประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์กำลังได้รับการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากขึ้นด้วย

การวิเคราะห์ Mechanism ของ Muti-Bodies ถูกคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาต่อไป ต้นทุนการลงทุนที่ต่ำในการวิเคราะห์ต้นแบบเสมือนจริงเมื่อเทียบกับการทดสอบทางกายภาพนั้นคาดว่าจะช่วยเพิ่มส่วนแบ่งตลาดด้าน CAE มากขึ้น

 

  • การใช้งาน CAE แบ่งตามประเภทผู้ใช้งาน

กลุ่มยานยนต์เป็นผู้นำในรูปแบบนี้ โดยมีความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสามารถประเมินผลได้ตรงกับชิ้นงานจริง ในรูปแบบนี้แบ่งออกเป็นกลุ่มยานยนต์ อุปกรณ์การแพทย์ อุปกรณ์อุตสาหกรรม การป้องกันประเทศและการบินและอวกาศ อิเล็กทรอนิกส์ และอื่น ๆ ยานยนต์จะได้รับส่วนแบ่งสูงสุดในช่วงปี 2566-2573 ความต้องการที่เพิ่มขึ้นในการประเมินความเป็นไปได้ของวิธีการกระจายความร้อน เช่น การระบายอากาศ การระบายความร้อน และแอโรไดนามิกส์ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคาดว่าจะกระตุ้นความต้องการซอฟต์แวร์ด้าน CAE เช่นเดียวกับประเทศบราซิลและอาร์เจนตินาซึ่งเป็นผู้ผลิตยานยนต์รายสำคัญในภูมิภาค

 

อุปกรณ์การแพทย์จะเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาถัดไป เพราะการมุ่งเน้นที่เพิ่มขึ้นของระบบการรักษาพยาบาลของแต่ละประเทศ คาดว่าจะเป็นการกระตุ้นให้ผู้ผลิตอุปกรณ์การแพทย์ลงทุนในซอฟต์แวร์นี้ ความสามารถในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่แม่นยำกำลังผลักดันความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์

 

  • การใช้งาน CAE ในแต่ละภูมิภาคในช่วง พ.ศ. 2565-2566

ขนาดตลาดของ CAE ในยุโรปเป็นผู้นำด้านนี้ โดยในปี 2565 มีมูลค่ากว่าพันล้านเหรียญสหรัฐ

ในแง่ของภูมิภาค ตลาดแบ่งออกเป็น 5 ภูมิภาคหลัก ได้แก่ อเมริกาเหนือ ยุโรป อเมริกาใต้ เอเชียแปซิฟิก และตะวันออกกลางกับแอฟริกา ยุโรปมีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดในปี 2564 การมีผู้พัฒนา CAE หลัก ๆ อยู่ในประเทศต่าง ๆ ในยุโรปคาดว่าจะช่วยส่งเสริมตลาดนี้ได้มาก ในทำนองเดียวกัน อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมหลักทั่วยุโรป และมีแนวโน้มว่าจะกระตุ้นความต้องการด้านวิศวกรรมโดยใช้ CAE ผู้พัฒนายานพาหนะและผู้ให้บริการรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นกำลังมีการลงทุนอย่างมากในเครื่องมือทาง CAE เพื่อปรับต้นทุนการผลิตให้เหมาะสม คาดว่าจะช่วยส่งเสริมตลาดด้าน CAE มากขึ้นด้วย

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคาดว่าจะได้รับส่วนแบ่งการตลาดที่มากขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันนี้ เนื่องจากการลงทุนของรัฐบาลแต่ละประเทศที่เพิ่มขึ้นในการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตและการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตพลังงานหมุนเวียน นอกจากนี้ ภูมิภาคนี้ยังแสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวของภาคการขายและการผลิต เมื่อพิจารณาจากความต้องการฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์ทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น

ประเทศต่าง ๆ ในอเมริกาใต้ เช่น อาร์เจนตินา บราซิล ชิลี และโคลอมเบีย กำลังปรับปรุงนโยบายอุตสาหกรรมของตนเพื่อเพิ่มรายได้จากตลาด ทั้งสามประเทศกำลังเพิ่มการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมในภูมิภาค ในอเมริกาใต้การพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ได้รับการระบุเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน ซึ่งคาดว่าจะกระตุ้นโอกาสในการเติบโตสำหรับตลาด CAE

ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมการผลิตในตะวันออกกลางและแอฟริกาคาดว่าจะเพิ่มโอกาสสำหรับผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ด้าน CAE อุตสาหกรรมการผลิตกำลังกลายเป็นตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาคนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

 

บริษัทที่พัฒนาซอฟแวร์ CAE

รายชื่อบริษัทหลักที่พัฒนาด้าน CAE :

  • ESI Group (France)
  • Siemens AG (Germany)
  • Hexagon AB (Sweden)
  • Aveva Group (U.K.)
  • SimScale (Germany)
  • ANSYS, Inc. (U.S.)
  • Altair Engineering Inc. (U.S.)
  • Autodesk, Inc. (Germany)
  • Bentley Systems, Inc. (U.S.)
  • Dassault Systemes (U.S.)

ซึ่งบริษัทเหล่านี้ เช่น ANSYS, Inc., Altair Engineering Inc., Dassault Systèmes และ Bentley Systems, Inc. เป็นต้น ให้ความสำคัญกับการปฏิวัติทางดิจิทัลอย่างมาก เช่น IoT, ปัญญาประดิษฐ์ (AI), ระบบอัตโนมัติ และระบบคลาวด์ การใช้เทคโนโลยีเหล่านี้อย่างต่อเนื่องโดยบริษัทต่าง ๆ ในภูมิภาคกำลังกระตุ้นตลาด CAE ในภูมิภาคเหล่านั้น

การเติบโตของ CAE

  • เมษายน พ.ศ. 2566: Avient Corporation ได้เปิดตัวความสามารถทางวิศวกรรมโดยใช้ CAE เพื่อให้สามารถคาดการณ์ที่แม่นยำเกี่ยวกับวัสดุพอลิเมอร์เสริมไฟเบอร์ในการใช้งานแทนโลหะ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของวัสดุคอมโพสิตไฟเบอร์
  • มิถุนายน 2022: Ansys & SoftInWay ซัพพลายเออร์ซอฟต์แวร์วิเคราะห์และออกแบบสำหรับการออกแบบ 1D-2D ร่วมมือกันเพื่อลดความซับซ้อนของเวิร์กโฟลว์การออกแบบสำหรับเครื่องจักรเทอร์โบแบบหลายขั้นตอน ขั้นตอนเดียว และหลายโมดูล
  • พฤษภาคม 2022: Siemens เปิดตัว Simcenter Femap แอปพลิเคชันการจำลองขั้นสูงสำหรับแก้ไข สร้าง และตรวจสอบโมเดลไฟไนต์เอลิเมนต์ของระบบหรือสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ซับซ้อน
  • กรกฎาคม 2021: Dassault Systèmes เปิดตัว DELMIAworks สำหรับบริษัทผู้ผลิต ซึ่งให้การควบคุมแบบเรียลไทม์และการมองเห็นขั้นตอนการผลิตทั้งหมด เป็นสภาพแวดล้อมการทำงานร่วมกันของชุดแอปพลิเคชัน Enterprise Resource Planning (ERP) และ Manufacturing Execution System (MES) ที่ช่วยเหลือผู้ผลิตในการรายงานเกี่ยวกับกระบวนการผลิตแบบครบวงจร
  • พฤษภาคม 2021: ESI Group ร่วมมือกับ Bentley เพื่อปรับปรุง Flying Spur ผ่านกระบวนการออกแบบที่ยั่งยืน

สรุปความครอบคลุมของรายงานนี้

การศึกษาตลาด CAE นี้ครอบคลุมพื้นที่ที่โดดเด่นทั่วโลกเพื่อค้นหาความรู้ที่ดีขึ้นเกี่ยวกับอุตสาหกรรมด้านนี้ นอกจากนี้การวิจัยยังให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับอุตสาหกรรมและแนวโน้มตลาดล่าสุด ตลอดจนการวิเคราะห์เทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้อย่างรวดเร็วทั่วโลก นอกจากนี้ยังเน้นถึงข้อจำกัดและองค์ประกอบที่กระตุ้นการเติบโต ทำให้ผู้อ่านได้รับความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมนี้

 

อ้างอิงและเรียบเรียงจากรายงานในเว็บไซต์
https://www.fortunebusinessinsights.com/